ผวาหนี้ยุโรปสะเทือน "คลัง" จ่อผุดกองทุนพยุงหุ้นรองรับ
ครม.เศรษฐกิจจี้ติดวิกฤติเศรษฐกิจยูโร ชี้เงินคงคลังปัจจุบัน 500,000 ล้านบาทสูงเป็นพิเศษยันใช้เป้าหมายขยายตัวทางเศรษฐกิจและยอดส่งออกเท่าเดิมพร้อมผุดกองทุนพยุงหุ้นได้ทันท่วงทีหากตลาดผันผวน
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมจากวิกฤติยูโร โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้นำมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ซึ่งมีแนวทางรับมือใน 10 มาตรการ มาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ พร้อมทั้งเจาะลึกในประเด็นที่สำคัญโดยในการประชุมครั้งนี้ได้รายงานที่ประชุมว่าประเทศไทยในขณะนี้มีเงินคงคลังอยู่ในระดับสูงเป็นพิเศษถึง 500,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับบางช่วงที่มีในระดับ 300,000 ล้านบาท ก็ถือว่าปลอดภัยสูงอยู่แล้ว โดยเม็ดเงินดังกล่าวทางกรมบัญชีกลางดูแลและสามารถส่งให้ส่วนราชการต่างๆ ได้เลย
ขณะที่หนี้สาธารณะ 4.5 ล้านล้านบาทคิดเป็น 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นั้นต้องไม่ลืมว่าในจำนวนนี้มีหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอยู่ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณ ไม่ว่าเงินต้นและดอกเบี้ยฉะนั้นหนี้สาธารณะที่เป็นภาระต่องบประมาณมีเพียง 3.4 ล้านล้านบาท จึงเป็นสัดส่วนต่ำที่ถือว่าปลอดภัยเช่นกัน ฉะนั้นยังคาดการณ์การอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ยังอยู่ในระดับเดิม ที่5.5-6.5% และยอดการส่งออกยังขยายตัว 15% เช่นเดิมแต่รัฐบาลอยู่บนความไม่ประมาทและเตรียมความพร้อมเอาไว้
สำหรับความกังวลที่อาจเกิดความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์นั้นตนในฐานะ รมว.คลัง ได้เตรียมพร้อมด้วยการหารือกับสถาบันหลายแห่งที่จะร่วมมือกันจัดตั้งกองทุนที่มีศักยภาพพร้อมเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่วันทำการ ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่มีการชักชวนและพูดคุยกันหลายครั้งแต่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นจนเวลาล่วงเลยไป แต่ในครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมพร้อมสูงและสามารถ มั่นใจได้ส่วนภาคการส่งออกที่มีผลกระทบโดยตรงต่อภาวะวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปที่ต้องจับตาดูประกอบด้วย 4 อุตสาหกรรม คือ 1. สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ 2. สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม 3. ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ 4. ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดูว่าหากอุตสาหกรรมดังกล่าวมียอดส่งออกชะลอตัวลง จะหาตลาดใดมาทดแทนได้ขณะที่กระทรวงแรงงานจะเข้าไปดูแลกระทบที่มีต่อแรงงาน ที่อาจถูกเลิกจ้าง
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงการคลังเตรียมการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นนั้น เพื่อเตรียมการณ์รอบรับสถานการณ์ที่อาจจะมีผลกระทบอย่างรุ่นแรงในอนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน หรือกำลังจะเกิดขึ้นในอีก 1-2 วันข้างหน้า
"ตอนนี้ สศค.เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว หากเกิดความจำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมาจริงๆ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเคยจัดตั้งกองทุนลักษณะแบบนี้มาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากหากต้องดำเนินการโครงการนี้”
นายสมชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมาก สถาบันการเงินก็มีความมั่นคง กองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินทั้งระบบเฉลี่ยอยู่ที่ 15% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีเพียง 2% ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมีมากถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ที่เป็นห่วงก็คือ ยอดการส่งออกที่จะลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งเรื่องนี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ โดยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจต้องใช้เงินลงทุนให้มากและเร็วกว่านี้ จึงจะสามารถประคับประคองเศรษฐกิจไว้ได้ โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเติบโตมากกว่า 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี).
ข่าว
ผวาหนี้ยุโรปสะเทือน "คลัง" จ่อผุดกองทุนพยุงหุ้นรองรับ
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์ผวาหนี้ยุโรปสะเทือน "คลัง" จ่อผุดกองทุนพยุงหุ้นรองรับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น