ยอดสั่งซื้อเพิ่ม ดันดัชนีอุตฯฟื้นตัว6เดือนติด
ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ค. อยู่ที่ระดับ 106.0 ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 หลังยอดคำสั่งซื้อและยอดขายรวมเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนหน้าลดลง หลังผู้ประกอบการหวั่นปัจจัยเสี่ยงต้นทุนเพิ่ม ขาดแคลนแรงงาน เศรษฐกิจยุโรปฉุดส่งออก...
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (TISI) ในเดือน พ.ค. จำนวน 1,110 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 106.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.0 ในเดือน เม.ย. ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และมีค่าเกิน 100 เป็นเดือนที่ 4 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี การบริโภคภายในประเทศ
“ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้เข้าสู่ภาวะปกติจากปัญหาอุทกภัยในระยะที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การขาดแคลนแรงงาน ความกังวลต่อเศรษฐกิจยุโรปเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า อุตสาหกรรม เห็นได้จากค่าดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเมืองในประเทศเป็นปัจจัยทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค.”
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า สมาชิก ส.อ.ท.ท่ี่ตอบแบบสอบถาม คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 111.1 ลดลงจากระดับ 112.6 ในเดือน เม.ย. ค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลางอยู่ที่ 99.8 และ 106.7 ตามลำดับ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 95.7 และ 103.3 ตามลำดับในเดือน เม.ย.
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมยา
นายพยุงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือน พ.ค. พบว่า ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. โดยมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือน พ.ค. ทรงตัวที่ระดับ 106.3 โดยปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 106.6 ในเดือนเม.ย. ซ่ึ่งองค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายจากต่างประเทศ และต้นทุนประกอบการ วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ เห็นได้จากดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวลดลง ขณะเดียวกัน ต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และเสถียรภาพทางการเมือง เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ
ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 111.3 ในเดือน เม.ย. องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายรวม ยอดขายจากต่างประเทศ ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 111.5 ลดลงจากระดับ 112.0 ในเดือน เม.ย. องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ การชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป เป็นปัจจัยสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทย รวมทั้งส่งผลกระทบทางอ้อมไปยังตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดจีน เป็นต้น.
ข่าว
ยอดสั่งซื้อเพิ่ม ดันดัชนีอุตฯฟื้นตัว6เดือนติด
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์ยอดสั่งซื้อเพิ่ม ดันดัชนีอุตฯฟื้นตัว6เดือนติด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น